บ้านอยู่หลังวัด


บ้านของเราปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่และจากแนวรั้วด้านหลังฝ่าทุ่งนาออกไปมีระยะห่างจากด้านหลังของวัดประจำตำบลเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าบ้านของเราอยู่หลังวัด หรือว่าวัดมาอยู่ข้างหลังบ้านเรา แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือยังไม่เคยเดินเข้าไปในบริเวณวัดเลยสักครั้ง แม้จะ "คิดเอาว่า" ตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดต่อศีลธรรมอย่างมากคนหนึ่งชนิดที่รับรองตัวเองได้เลยว่า "มากกว่าพระภิกษุสงฆ์บางรูป" เสียอีก นั่นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติตามหลักธรรมเท่านั้นนะ เพราะยังไม่เคยคิดจะออกไปเเดินบิณฑบาตให้ชาวบ้านจับส่งโรงพยาบาลบ้า นอกจากศาสนาพุทธจะเป็นหลักของความเชื่อแล้ว ศาลพระภูมิแม้จะเป็นแนวทางพราห์มแต่ก็ผูกพันกับศาสนาพุทธจนแยกกันไม่ออกเสียแล้ว จึงนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่มีคุณค่าสูงสุดเช่นกัน

แต่จุดประสงค์ที่ต้องการจะกล่าวถึงน่ะไม่ได้เน้นไปที่ัวัดหรือศาลพระภูมิ แต่เป็น "สัจธรรม" ที่พระพุทธองค์เป็นผู้เผยแผ่มาถึงพวกเรา ซึ่งถึงบ้างไม่ถึงบ้าง รู้เรื่องบ้าง "ไม่ยอมรับรู้้บ้าง" และไม่ค่อยจะให้ความสนใจที่จะนำไปปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็ขอแค่นำมาอ่านแล้วใช้วิจารณญานของตนไตร่ตรองดูสักนิดแล้วพิจารณาด้วยเหตุและผล "ตามแต่สติปัญญาของตนจะเอื้ออำนวย" ก็น่าจะมีทางเลือกให้กับเส้นทางของชีวิต หรือมีทางออกสำหรับปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินชีวิต "ก็คิดเอาเองอยู่เช่นเดิมนั่นแหละ"

อันที่จริงหัวใจของการใช้ชีวิตอยูในสังคมเราก็มีอยู่หลายแนวทางแต่ที่ตรงประเด็นมากที่สุดตามวิถีธรรมก็น่าจะเป็น ฆราวาสธรรม ซึ่งผู้รู้ท่านแปลความหมายไว้ว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ

  • สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้
  • ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ
  • ขันติ แปลว่า อดทน
  • จาคะ แปลว่า เสียสละ

แต่เท่าที่เคยอ่านหนังสือจากหลายๆ เล่มบางเล่มก็ว่าเป็นธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน แต่ที่จริงแล้วควรจะแปลว่า หลักปฏิบัติสำหรับประชาชน ดูจะทันสมัยเข้ากับโลาภิวัฒน์มากกว่า ถ้าจะว่าไปแล้วหลักธรรมที่ชี้ทางสว่างให้กับชีวิตนั้นมีมากมายหลากหลายเรื่องขึ้นอยู่กับตัวเราว่า "จะมองเห็นหนทาง" หรือไม่ ?

หากผู้คนในบ้านเมืองเรายึดมั่นตามแนวทาางของฆราวาสธรรมตั้งแต่ระดับล่างสุดของสังคม(ไม่เกี่ยวกับพวกไพร่นะเพราะได้ข่าวว่าประเทศเราเค้ายกเลิกไปนานแล้ว) เริ่มต้นสั่งสอนอบรมกันตั้งแต่ระดับครอบครัวโดยตั้งต้นจากพ่อแม่สอนลูกเพื่อปลูกฝังความเป็นคนดีในขั้นรากฐานของปัญญาและจิตสำนึก (ก็จะต้องยกเว้นไว้สำหรับกลุ่มที่พ่อแม่ไม่ค่อยสั่งสอน อาจจะด้วยมีการงานรัดตัวมัวแต่ทำมาหาโกง ..เอ๊ย หากิน จนไม่มีเวลาเหลือมาสั่งสอนลูก) เพราะพื้นฐานในขั้นตอนนี้เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น หากพิจารณาดูทั่วไปจะเห็นว่า ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ในข่าย "คนดี" บรรดาลูกๆ ก็มักจะอยู่ในข่าย "อนาคตก็ไม่ใช่คนดี" แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายก่ายกองก็ไม่อาจปรับเปลี่ยนละเลย "สันดาน" ที่สืบทอดมาโดยสายเลือดได้

จากนั้นก็ควรจะเป็นครูบาอาจารย์ในสถานศึกษา (ถึงตรงนี้ก็ต้องยกเว้นครูบาอาจารย์ที่มัวแต่วิ่งเต้นนักการเมืองหรือหัวหน้าเพื่อสรรหาตำแหน่งใหญ่โต หรือหาที่อยู่ใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม หรือสถาบันที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือมัวแต่หาความรู้ใส่ตัวเอง จนเผลอตัวเกษียณหรือแอบสิ้นลมหายใจไปก่อนเรียนจบ) อันที่จริงนโยบายทางการศึกษาของทุกรัฐบาลมักจะดูสวยหรูเพริศแพร้วบรรเจิดยิ่งกว่าละครเวทีเสียอีก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในผลงานรัฐบาลนั้นมันเป็นเพียงรายงานสรุปที่นั่งเทียนเขียนกันอยู่บนวิมานเสียมากกว่า เพราะในโลกของความเป็นจริง ระบบการศึกษาของเรานั้นลุ่มๆ ดอนๆ จนไม่สามารถหามาตรฐานใดๆ มาอ้างอิงได้เลย สติปัญญาของผู้เรียนถดถอยลงจนต่ำกว่าระดับเดียวกันที่เรียนผ่านมาเมื่อ 50 ปีที่แล้วชนิดเทียบกันไม่ติด(ถึงแม้ว่าจะคุยข่มเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น) ผู้ที่เรียนจบชั้นปริญญาตรีในวันนี้หลายคนโง่กว่าคนที่เรียนจบ ป.4 ในยุคก่อนเีสียด้วยซ้ำไป (ไม่ได้พูดกระทบคนที่แอบซื้อปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มาประดับนะครับและก็ไม่ได้พูดถึงสถาบันเอกชนบางแห่งที่ไล่แจกปริญญาให้กับผู้บริจาคเงินหรอก) การแก้ไขระบบการศึกษาของไทยควรจะเริ่มทำอย่างจริงจังด้วยคนที่ตั้งใจจริง และต้องแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ การสนับสนุนจากภาครัฐ ทิศทางของหลักสูตร สถาบัน ผ้สอน ผู้เรียน ไม่ใช่ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงศึกษาธิการไว้เพียงเศษเสี้ยวของกระทรวงอื่นๆ

เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการตามแต่ฐานะและปัญญาจะเอื้ออำนวยก็จะเป็นช่วงเวลาของการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนและครอบครัว รวมถึงการเกื้อกูลไปถึงบุพการีด้วย บางคนก็ต้องดิ้นรนขวนขวายจนเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหางานทำได้ ขณะที่บางคนเรียนจบมาแบบหืดเกาะคอแต่กลับมีงานมารอรับอยู่แล้ว อาจจะเป็นถึงประธานกรรมการใหญ่ของบริษัทชั้นนำด้วยซ้ำไป นั่นคือความแตกต่างของชนชั้นในสังคม(ที่มีการบอกเล่าว่าหมดไปแล้วจากสังคมไทย) บางคนในกลุ่มนี้ก็เลื่อนขึ้นไปเป็นนักการเมืองอาชีพตามแบบบรรพบุรุษมีโอกาสได้พัฒนาตนเองก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมีส่วนในการบริหารบ้านเมือง(ด้วยสติปัญญาเพียงน้อยนิดที่มีติดตัวมาตั้งแต่เริ่มต้น) เมื่อมาถึงตรงนี้ คนหลายๆ คนที่มีหลักธรรมะติดตัวมา ยึดมั่นมาตั้งแต่แรกก็เริ่มจะถูกกระแสของสังคมเหยียบย่ำความเชื่อให้จมลงไปทีละน้อย เพราะมองเห็น "สัจธรรม" ที่เกิดใหม่ว่า หลักธรรรมะที่ตนยึดมั่นนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้วในโลกของความเป็นจริง เนื่องจาก คุณธรรม ทั้งหลายทั้งมวลเลือนหายไปจากจิตใจของผู้คนเกือบทุกระดับ โดยเฉพาะคนระดับสูงในสังคม(ที่พวกเค้าเรียกตัวเองน่ะ) ที่ยึดมั่นในทรัพย์สินและอำนาจ มากกว่าที่จะต้องไปเห็นใจหรือเข้าใจในจิตใจของบุคคลอื่นๆ ที่มิได้สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตน (หากจะมีความเห็นใจ โอบอ้อมอารีบ้างก็เฉพาะในยามที่ต้องการแนวร่วมในการก้าวเดินไปหาจุดประสงค์ที่ตนต้องการเท่านั้น เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องปรุงแต่งอารมณ์ให้เป็นยิ่งกว่าในละคร)

ในยุคหนึ่งที่เขมรแดงครองเมืองเป็นใหญ่เป็นโตปกครองประเทศกัมพูชา นอกจากการเข่นฆ่าผู้คนที่ต่อต้านอย่างบ้าคลั่งแล้ว นโยบายหนึ่งที่เด่นชัดก็คือ การกำจัดข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ผู้มีวิชาความรู้ในทุกสาขา (ยกเว้นพวกของตนเอง) เพื่อมิให้มีบุคคลใดมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับตน และนโยบายที่นิ่มนวลที่สุดก็คือ การกำหนดแนวทางการปกครองด้วยมาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับการศึกษาในทุกระดับ เป็นการขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าอย่างเฉียบขาด (มาถึงตรงนี้แล้วก็นึกถึงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลบ้านเราว่ามีแนวทางที่ใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ ผิดกันที่วิธีการเท่านั้นเอง)

โดยสรุปแล้ว ฆราวาสธรรม จึงเป็นแนวทางปฏิบัติของประชาชนโดยทั่วไปที่ "จำเป็น" ต้องปฏิบัติ เพื่อรักษาชีวิตตนเองให้อยู่รอดในสังคมไปวันๆ

  • สัจจะ มีความตั้งมั่นจริงใจ และแน่วแน่ที่จะเป็นคนดีของบ้านเมือง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ปริปากโต้แย้ง ไม่เรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพหรือความเท่าเทียมกัน อย่างเปิดเผยเพราะเค้ามีบทบัญญัติไว้ให้อ่านในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
  • ทมะ มีความอุตสาหะในการฝึกตนให้เป็นผู้ที่มีจิตใจดี รักษาใจให้เป็นกลางในทุกเรื่อง มองทุกปัญหาด้วยการให้อภัย มองทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองด้วยจิตใจที่สงบไม่ร้อนรุ่มให้เเกิดไฟแผดเผาอารมณ์
  • ขันติ มีความอดกลั้นต่อการกระทำที่เหมือนคนไร้สติสัมปชัญญะ ลุ่มหลงมัวเมา แย่งชิงอำนาจ ความก้าวร้าว รุนแรงทั้งทางกาย วาจาและใจ ของผู้ที่เราเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่แทนตัวเราในการบริหารปกครองประเทศ
  • จาคะ มีความยินดีที่จะเสียสละผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของประเทศชาติและประชาชน ให้กับนักการเมืองบางคน บางกลุ่มที่พากันมุ่งหน้าเข้าไปกอบโกยเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ของครอบครัวและวงศ์ตระกูล รวมถึงพวกพ้อง โดยปราศจากความละอายใจหรือกลัวเกรงผู้ใด

ขอความเจริญในธรรมจงเป็นของทุกท่าน ตราบสิ้นลมหายใจ
เพราะไอ้คนประเภทที่กล่าวอ้าง เชื่อแน่ว่ามันคงตายไม่เป็น
และประวัติศาสตร์จะต้องจารึกความเลวของมันไว้ตราบชั่วลูกหลาน
ซึ่งแอบหวังว่า มันคงสอนลูกหลานให้รู้จักอายไว้บ้าง
อย่างน้อยที่สุดก็เช่น ไม่ควรปัสสาวะในที่สาธารณะโดยยกขาข้างหนึ่งข้างใดขึ้นมา
ฯ ล ฯ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บัวสี่เหล่า

บริการสาธารณะ

มองไปข้างหน้า