ขยะของสังคม


หากมองภาพข้างบนนี้แล้วก็จะเห็นว่าเป็นภาพของใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมากองทับถมกันตามธรรมชาติของป่าไม้ทั่วไป แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นหรอกครับเพราะใบไม้แห้งที่เห็นอยู่นี่ถูกกวาดต้อนเอามาจากที่ต่างๆ ทั่วบริเวณหลังบ้านแล้วขนย้ายเอามากองรวมเอาไว้ในพื้นที่ส่วนนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำยังไม่ได้ถมดินเพื่อปรับระดับพื้นที่  การเอาเศษใบไม้และขยะมูลฝอยมาทิ้งไว้จึงเป็นการถมพื้นที่ไว้ล่วงหน้าเพื่อประหยัดดินที่จะใช้  เนื่องจากราคาดินถมที่ในเขตบ้านนอกวันนี้ราคาโดยเฉลี่ยรถละ 550 บาท และพื้นที่ส่วนที่เตรียมการถมนี้คาดว่าคงจะใช้ต่ำสุดก็ 30 คันรถหรืออาจจะถึง 50 คันรถ ก็น่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าสามหมื่นเสียแล้ว

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“มูลฝอย” หมายความว่า เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น และหมายความรวมถึงมูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน
มาตรา ๑๘ การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่นอาจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันก็ได้ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยส่วนรวม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการร่วมกันได้
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรราชการส่วนท้องถิ่นอาจมอบให้บุคคลใดดำเนินการตามวรรคหนึ่งแทนภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่น หรืออาจอนุญาตให้บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามมาตรา ๑๙ ก็ได้
บทบัญญัติตามมาตรานี้ และมาตรา ๑๙ มิให้ใช้บังคับกับการจัดการของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่ให้ผู้ดำเนินกิจการโรงงานที่มีของเสียอันตราย และผู้ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขนหรือกำจัดของเสียอันตรายดังกล่าว แจ้งการดำเนินกิจการเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

และก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขยะนี้อีกฉบับที่เนื้อหานั้นแทบจะเป็นฉบับเดียวกันเลย ใครมีอารมณ์ก็ลองไปหาอ่านศึกษาเอาเองแล้วกันครับ

พระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"มูลฝอย" หมายความว่า เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ รวม ตลอดถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น

จนถึงทุกวันนี้บ้านของเรามีการเลือกตั้งนายก อบต.ผ่านไปแล้วหลายเดือนทุกอย่างก็ยังคงเป็นไปตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ระบบสาธารณูปโภค การบริการสาธารณะ หลายอย่างยังคงไม่มีต่อไป ระบบแสงสว่างตามเส้นทางภายในหมู่บ้านก็มีเฉพาะเส้นกลางที่มีบ้านของผู้คนหนาแน่น(แน่นอนว่าไม่ใช่แสงสว่างจากบริการสาธารณะแต่เป็นแสงสว่างจากบ้านของประชาชน) ระบบการระบายน้ำก็มีการจัดทำเฉพาะเส้นทางสายกลางหมู่บ้าน แต่เส้นทางสายอื่นๆ โดยรอบหมู่บ้านกลับไม่มีทางระบายน้ำหรือไม่มีแม้แต่ความคิดริเริ่ม ทั้งๆ ที่มองเห็นสภาพได้จากการปลูกสร้างบ้านเรือนของผู้คนที่มีอยู่เกือบทุกเดือนว่าบ้านที่สร้างใหม่จะต้องมีการถมดินให้สูงเหนือผิวจราจรของถนนไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ทำให้ปัญหาไปตกอยู่กับผู้ที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่เดิมต้องยอมรับสภาพเป็นทางระบายน้ำให้กับชุมชนไปโดยไม่เจตนา


ปัญหาการจัดการขยะก็เป็นอีกปัญหาที่ไม่ได้รับการใส่ใจจากผู้บริหารท้องถิ่น แต่ละบ้านต้องจัดการกับระบบขยะด้วยตัวเองทั้งการ กลบฝัง(แบบที่เราทำอยู่) เผาทำลาย(ในยามบ่ายจะเห็นควันจากการเผาคละคลุ้งตลบจนมืดไปทั่วหมู่บ้าน)  หรือปล่อยให้หมามันคาบเอาไปทิ้งในบ้านข้างๆ  เนื่องจากความเป็นชุมชนเล็กๆ ปัญหาขยะจึงยังไม่ได้เด่นชัดขึ้นมาเพราะชาวบ้านมีระบบการจัดการขยะแบบง่ายๆ หมดจดเป็นธรรมชาติอยู่แล้วแม้จะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนอยู่บ้างก็ตามที

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ ระบบการระบายน้ำ ระบบการให้แสงสว่าง  จึงเป็นบริการสาธารณะที่ประชาชนจะต้องได้รับการดูแลและได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  ปัญหาจึงอยู่ที่ผู้บริหารท้องถิ่นว่ามีความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้เพียงใด? และมีความสามารถที่จะดำเนินการต่อปัญหานี้หรือไม่?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บริการสาธารณะ

บัวสี่เหล่า

ลมหายใจ